คำตอบ
บารากู่ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบ (tobacco) กับสารที่มีความหวาน เช่น น้ำผึ้งหรือกากน้ำตาล (molasses) หรือผลไม้ตากแห้ง และมักมีการเติมแต่งกลิ่นหอมของผลไม้ เช่น สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล และสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น การสูบบารากู่จะต้องมีอุปกรณ์การสูบควันที่เรียกว่าเตาบารากู่ หรือ hookah โดยเป็นการสูบควันผ่านน้ำ บารากู่จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535
บารากู่ หมายถึง หม้อสูบยาสูบ แบบอาหรับ หรือลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน อุปกรณ์หรือส่วนประกอบไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัสดุใดที่ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับสูบควันผ่านน้ำซึ่งเกิดจากการเผาไหม้หรือการใช้ความร้อนผ่านพืช ผลไม้ พืชหมัก สาร สารสกัด หรือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะมียาสูบเป็นส่วนประกอบหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึง พืช ผลไม้ พืชหมัก ผลไม้หมัก สาร สารสกัด หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันสำหรับอุปกรณ์ดังกล่าว
บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดละองไอน้ำในลักษณะคล้ายควันบุหรี่ไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัตถุใด ซึ่งใช้สำหรับสูบในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่
ยาสูบที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้เสพที่มีชื่อเรียกว่า ฮุคคา (hookah) อุปกรณ์นี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายภาษา เช่น water pipe, narghile, shisha, hubble-bubble เป็นต้น ประเทศไทยเรียกว่า เตาบารากู่ การสูบยาสูบโดยใช้อุปกรณ์นี้เป็นวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้นอกจากพบในตะวันออกกลางแล้ว ยังมีในแถบโลกตะวันตกด้วย
สารที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ฮุคคา ไม่จำเป็นต้องแห้งสนิท ที่มักใช้กันมีชื่อเรียกว่า โทบาเมล หรือ มาแอสเซล (tobamel or maassel) ซึ่งประเทศไทยรู้จักกันในชื่อว่า บารากู่ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบ (tobacco) กับสารที่มีความหวานเช่น น้ำผึ้ง หรือกากน้ำตาล (molasses) หรือผลไม้ตากแห้ง
อันตรายของบารากู่ต่อสุขภาพ
มีงานศึกษาเกี่ยวกับการสูบยาโดยใช้ฮุคคานั้น ถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บุหรี่ 9 มวน (ซึ่งคำนวณว่า 1 มวนใช้เวลา 5 นาที) และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบยาแล้ว มีโอกาสการเป็นโรคเหงือกมากกว่าถึง 5 เท่า
บารากู่ ถือเป็นยาสูบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ แต่ยังไม่มีการควบคุมการขาย ยาสูบ เครื่องสูบ ประเภทดังกล่าว ทำให้มีการขายอย่างเสรีในหลายที่ รวมทั้งผับ บาร์ ที่ยังลักลอบจำหน่าย
รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ : สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
อาคารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีบำราศนราดูร อาคาร10ชั้น (ชั้น6) 126/146 หมู่ 4
ซอยบำราศนราดูร ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000