บารากู่
28 มีนาคม 2566

บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า (อี-ซิกาแรต)

        บารากู่ หมายถึง หม้อสูบยาสูบ แบบอาหรับ หรือลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน อุปกรณ์หรือส่วนประกอบไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัสดุใดที่ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับสูบควันผ่านน้ำซึ่งเกิดจากการเผาไหม้หรือการใช้ความร้อนผ่านพืช ผลไม้ พืชหมัก สาร สารสกัด หรือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะมียาสูบเป็นส่วนประกอบหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึง พืช ผลไม้ พืชหมัก ผลไม้หมัก สาร สารสกัด หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันสำหรับอุปกรณ์ดังกล่าว

                บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดละองไอน้ำในลักษณะคล้ายควันบุหรี่ไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัตถุใด ซึ่งใช้สำหรับสูบในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่

                ยาสูบที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้เสพที่มีชื่อเรียกว่า ฮุคคา (hookah) อุปกรณ์นี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายภาษา เช่น water pipe, narghile, shisha, hubble-bubble เป็นต้น ประเทศไทยเรียกว่า เตาบารากู่ การสูบยาสูบโดยใช้อุปกรณ์นี้เป็นวัฒนธรรมแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี้นอกจากพบในตะวันออกกลางแล้ว ยังมีในแถบโลกตะวันตกด้วย

               สารที่นำมาใช้กับอุปกรณ์ฮุคคา ไม่จำเป็นต้องแห้งสนิท ที่มักใช้กันมีชื่อเรียกว่า โทบาเมล หรือ มาแอสเซล (tobamel or maassel) ซึ่งประเทศไทยรู้จักกันในชื่อว่า บารากู่ เป็นส่วนผสมของใบยาสูบ (tobacco) กับสารที่มีความหวานเช่น น้ำผึ้ง หรือกากน้ำตาล (molasses) หรือผลไม้ตากแห้ง

            วัฒนธรรมบารากู่

            ในแถบตะวันออกกลาง และตุรกี สามารถพบได้ในร้านอาหาร ภัตตาคารทั่วไป ใช้สูบหลังอาหารแทนบุหรี่ บางแห่งสูบกันในแหล่งที่ใช้เป็นที่สังสรรค์ ดูรายการยอดนิยม หรือดูกีฬาระดับชาติร่วมกัน เมื่อไม่นานมานี้หลายรัฐในอเมริกาและแคนาดา ได้ห้ามการสูบในที่สาธารณะ ที่สกอตแลนด์และอังกฤษมีการห้ามการสูบในที่สาธารณะเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันเริ่มเป็นที่นิยมในบางแห่ง ได้แก่ สเปน และรัสเซีย

          ในเอเชียโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มรู้จักกันมากขึ้น เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นปากีสถานและอัฟกานิสถาน ที่อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนในประเทศไทยจากข่าวที่พบ บารากู่พบแพร่หลายในสถานที่เที่ยวทั่วไป แม้ว่าตั้งแต่ที่เริ่มมีข่าวเรื่องวัยรุ่นกับการใช้บารากู่ในปี 2546 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำเรื่องเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาประกาศห้ามจำหน่ายและนำเข้าผลิตภัณฑ์นี้ และได้รับการตอบรับแล้วก็ตาม

           ปัจจุบันพบว่ามีการขายหรือให้บริการสินค้าสำหรับสูบบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มวัยรุ่นและตามสถานบันเทิง รวมถึงมีการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต มีการโฆษณาว่า มีกลิ่นหอม มาจากผลไม้แห้งไม่มีพิษ ไม่มีนิโคติน เหมือนบุหรี่ที่สูบแต่ไม่ทำให้ติด และยังมีความเชื่อว่า สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

           อันตรายของบารากู่ต่อสุขภาพ

          มีงานศึกษาเกี่ยวกับการสูบยาโดยใช้ฮุคคานั้น ถ้าใช้เวลาสูบนาน 45 นาที จะได้รับสารทาร์เป็น 36 เท่า คาร์บอนมอนนอกไซด์เป็น 15 เท่า และนิโคตินเป็น 70 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้บุหรี่ 9 มวน (ซึ่งคำนวณว่า 1 มวนใช้เวลา 5 นาที) และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบยาแล้ว มีโอกาสการเป็นโรคเหงือกมากกว่าถึง 5 เท่า

          ซึ่งจากการตรวจสอบพบสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด ได้แก่ Propylene glycol , Menthol ,Cyclohexanol , Triacetin ,อนุพันธ์ของเบนซีน , ตะกั่ว นอกจากนี้ ยังพบโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็งได้แก่ โครเมียม ,สารหนู , แคดเมียม และยังพบว่าการสูบอุปกรณ์ดังกล่าว อาจทำให้ผู้สูบเกิดโรคต่างๆ หรือเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายของโรคติดต่อต่างๆ หลายชนิด ได้แก่ วัณโรค ไข้หวัด ไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงโรคติดต่อร้ายแรงในช่องปากเป็นต้น เนื่องจากพฤติกรรมการสูบมักเป็นการผลัดเปลี่ยน และหมุนเวียนการสูบภายในกลุ่ม และอาจนำไปสู่การเสพร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาอี ยาเค กัญชา เป็นต้น


baraku.png



HOOKAH TOBACCO(tobamel) 
ผลิตภัณฑ์โทบาเมล/ยาบารากู่



บารากู่ ถือเป็นยาสูบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ปัจจุบัน ห้ามขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ รวมถึงการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่3) พ.ศ. 2556

และกำหนดให้ บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งให้ริบสินค้ารวมทั้งสิงที่ใช้บรรจุและพาหนะ ที่ใช้บรรทุกสินค้าด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522

           กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :

         1. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า พ.ศ. 2558

          2. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่3) พ.ศ. 2556

          3. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้าม ในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557

          4. พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522


รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถาม

ได้ที่ : สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

อาคารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีบำราศนราดูร

อาคาร10ชั้น (ชั้น6) 126/146 หมู่ 4 ซอยบำราศนราดูร ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ 0 2580 9237 โทรสาร 0 2590 9307