โรคอ้วน/ปัญหาการใช้ยาลดความอ้วนในประเทศไทย
อันตรายของโรคอ้วน
โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากการเสียสมดุลย์ของพลังงานของร่างกาย ผู้ป่วยอ้วนมีลักษณะสำคัญคือ มีไขมันทั่วร่างกายมากกว่าปกติ สาเหตุของโรคอ้วนได้แก่กรรมพันธุ์ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น cushing syndrome hypothyroidism การรับประทานอาหารที่มีแป้งและไขมันมากรวมทั้งขาดการออกกำลังกาย และการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
โรคอ้วนนั้นเป็นสาเหตุของปัญหามากมาย และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากผลการสำรวจพบว่าผู้ชายที่มีน้ำหนักตัวสูงกว่าน้ำหนักมาตรฐาน 20% หรือมากกว่า จะมีอัตราตายสูงขึ้น 20% ส่วนผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวสูงกว่าน้ำหนักมาตรฐาน 20% หรือมากกว่า จะมีอัตราตายสูงขึ้น 10%
สาเหตุของการตายที่สูงขึ้น เนื่องมาจากโรคแทรกซ้อนของความอ้วน ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ส่วนโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่พบคือ โรคกระดูกเสื่อม โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งบางชนิด
มาตรฐานที่เป็นเครื่องชี้บ่งว่าบุคคลอยู่ในภาวะอ้วนหรือไม่ ในปัจจุบันนิยมใช้ค่าดัชนีมวลร่างกาย (body mass index, BMI ) ซึ่งเป็นการคำนวณน้ำหนักที่ยอมรับทางการแพทย์ โดยคำนวณจาก
ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
(ส่วนสูงเป็นเมตร) 2
เช่น คนที่สูง 150 ซม. น้ำหนัก 60 กิโลกรัม สามารถคำนวณค่าดัชนีมวลร่างกาย ได้ดังนี้
ดัชนีมวลร่างกาย (BMI) = 60 กิโลกรัม
1.5 เมตร x 1.5 เมตร
= 60 = 26.67 กิโลกรัม/ตารางเมตร
2.25
จากนั้นนำค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) มาแปลผลดังนี้
ต่ำกว่า 20 หมายความว่า น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน
20.0-24.9 หมายความว่า น้ำหนักปกติ (เมืองไทยใช้ 18.5-24.9)
25.0-29.9 หมายความว่า น้ำหนักเกิน
30.0-39.9 หมายความว่า โรคอ้วน
มากกว่า 40 หมายความว่า โรคอ้วนรุนแรง
หมายเหตุ การคำนวณวิธีนี้ ไม่ใช้กับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต สตรีมีครรภ์ และนักกีฬา
หลักการในการใช้ยาลดน้ำหนัก
1. การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสมอ
2. ยาลดน้ำหนักไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน เมื่อหยุดยาน้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก
3. ยาลดน้ำหนักควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
4. ยาลดน้ำหนักควรพิจารณาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะยาวของโรคอ้วน ควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลเสียที่อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของยาและผลเสียจากโรคอ้วน
5. ยาลดน้ำหนักสามารถใช้ได้นาน เท่าที่ยายังคงประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักและมีความปลอดภัยจากยา
6. ก่อนที่จะเริ่มใช้ยาลดน้ำหนัก ควรจะให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ในกรณีที่หลังให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร และ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเวลา 3 เดือนแล้วน้ำหนักลดลงเกินร้อยละ 10 การใช้ยาลดน้ำหนักจะไม่มีความจำเป็นในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับในกรณีที่หลังให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเวลา 3 เดือน แล้วน้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม การรักษาด้วยยาลดความอ้วนจะไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่น้ำหนักจะกลับเพิ่มขึ้นเหมือนเดิมเมื่อหยุดใช้ยา
7. การใช้ยาลดน้ำหนักควรต้องคำนึงถึงการรักษาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมไปด้วย ได้แก่การรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและการหยุดสูบบุหรี่
ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาลดน้ำหนัก
1. BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัม / เมตร2 ให้ยาภายหลังจากการให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
2. BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัม / เมตร2 ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ให้ยาภายหลังจากการให้การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ข้อห้ามใช้ของยาลดน้ำหนัก
1. อายุน้อยกว่า 13 ปี เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลของยาต่อ puberty
2. หญิงตั้งครรภ์
ประเภทของยาลดน้ำหนัก
ยาลดน้ำหนักที่ใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ของยา ได้แก่ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่สมอง โดยมีผลต่อศูนย์ควบคุมการรับประทานอาหาร หรือความอยากอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ส่วนนอกสมองได้แก่ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร
ยาลดความอ้วนซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง แบ่งตามฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้ 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน catecholamine pathways ได้แก่ amphetermine, phenmetrazine (ในปัจจุบันยาทั้ง 2 ชนิดนี้เลิกใช้เป็นยาลดความอ้วนแล้ว) amfepramone, phentermine, mazindol, cathine และ phenylpropanolamine (PPA) (ในปี พ.ศ. 2544 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพิกถอนตำรับยาและยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ทั้งหมดที่มี PPA เป็นส่วนผสมด้วยเหตุผลที่ว่า PPA อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขให้คืนดีดังเดิมได้ ) ในปัจจุบันง 2 ชนิดนี้เลิกใช้เป็นยาลดความอ้วนแล้ว) ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทซิมพาเธติค
2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ผ่าน serotonin pathways ได้แก่ fenfluramine, dexfenfluramine ยาในกลุ่มนี้จะไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทซิมพาเธติค
แต่เดิมได้มีการควบคุมยาลดความอ้วนซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองโดยกฎหมาย 2 ฉบับ โดยพิจารณาจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาเป็นหลัก
1. ยาลดความอ้วนกลุ่มที่ควบคุมโดยพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ได้แก่ amfepramone, phentermine, mazindol, cathine
2. ยาลดความอ้วนกลุ่มที่ควบคุมโดยพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ได้แก่ fenfluramine และdexfenfluramine
แต่ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีมติให้เพิกถอนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับทุกตำรับที่มี fenfluramine และ dexfenfluramine ผสมอยู่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2543 ทั้งนี้เนื่องจากแม้ว่าการใช้ยา phentermine และ fenfluramine ร่วมกันจะเกิดการเสริมฤทธิ์ทำให้ความอยากอาหารลดลงมากเพราะกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน แต่พบว่าผู้ที่ใช้ยาทั้งสองชนิดร่วมกันเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อโรคลิ้นหัวใจเพิ่มขึ้นคือ 18 ราย/ 1 ล้านคน/ ปี ซึ่งสถิติทั่วไปคือ 1-2 ราย/ 1ล้านคน/ ปี และพบว่าการใช้ fenfluramine หรือ dexfenfluramine เพียงชนิดเดียวก็อาจทำให้เกิดลิ้นหัวใจผิดปกติได้ด้วย ในขณะนี้ยังไม่พบรายงานความสัมพันธ์ของ phentermine กับอาการลิ้นหัวใจผิดปกติ
อันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์
เป็นเวลานานกว่า 50 ปีมาแล้วที่มีการนำเอา amphetamine มาใช้เป็นยาลดความอ้วน หลังจากนำมาใช้ไม่นานก็มีการพัฒนาค้นพบ dextrorotatory isomer ของ amphetamine ขึ้นมาใช้แทน ซึ่งในการค้นพบครั้งหลังนี้พบว่านอกจากมีฤทธิ์ในการลดความอยากอาหาร แล้วยังพบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาท ส่วนกลางและที่ทำให้เคลิบเคลิ้มเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วยได้เลิกใช้ amphetamine และ stereoisomer ทุกตัวเป็นยาลดความอ้วน และมีการจำกัดการนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ยาลดความอ้วนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางน้อยกว่า amphetamine มาก ได้แก่ amfepramone, phentermine, mazindol, cathine แต่ทุกตัวก็จะทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากไม่ได้รับ คำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ อาการที่พบคือนอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก
มาตรการควบคุมยาลดความอ้วน ในประเทศไทย
ยาลดความอ้วน amfepramone, phentermine, mazindol, cathine ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ในปี พ.ศ. 2536 (จากเดิมจัดเป็นประเภท 3 และ4) ซึ่งกฎหมายระบุห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า และส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นการกระจายยาลดความอ้วนกลุ่มดังกล่าวทำโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้นำสั่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ ตามคำขอซื้อของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายยาลดความอ้วนแก่ผู้ป่วยของตน ดังนั้นยาลดความอ้วนจะถึงมือประชาชนได้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาว่าเห็นควรสั่งจ่ายได้เท่านั้น พบว่าการนำเข้ายาลดความอ้วนกลุ่มที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ 2536 นอกจากนั้นกองควบคุมวัตถุเสพติด ยังได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองของเยาวชนเพศหญิงที่ได้รับอันตราย จากการซื้อยาลดความอ้วนจากคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งมารับประทานเองถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
จากเหตุผลดังกล่าวกองควบคุมวัตถุเสพติดจึงทำการเก็บข้อมูลจากการออกสำรวจสถานพยาบาลเอกชน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลพบว่า (การวิจัยดังกล่าวมีระยะเวลา ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2537 ถึงพฤษภาคม 2539) มีการจ่ายยาลดความอ้วนกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้ประชาชนโดยไม่ได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ในอัตรา 59.7% ของกลุ่มตัวอย่าง
ขณะออกเก็บข้อมูลพบสถานพยาบาลที่ไม่อยู่ปฏิบัติการมีจำนวน 7 แห่งจาก 67 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10.4 พบว่าแม้ว่าแพทย์จะอยู่ปฏิบัติการ แต่ประชาชนสามารถซื้อยามารับประทานเองได้ โดยแพทย์เป็นผู้ขายยาให้กับผู้เก็บตัวอย่าง โดยเพียงบอกชื่อยาหรือนำตัวอย่างยาไปให้ดูเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีประวัติผู้ป่วยหรือได้รับการตรวจร่างกายแต่อย่างใด ผลการวิจัยที่พบข้างต้นนี้สอดคล้องกับรายงานการวิจัยเกี่ยวกับ ยาลดความอ้วนที่เสนอในการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านสารกระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน ครั้งที่ 2 ขององค์การสหประชาชาติ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 25-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งกล่าวว่า “ตั้งแต่เริ่มปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ได้มีการเฝ้าติดตามสังเกตว่ามีการบริโภคยาลดความอ้วนกลุ่มแอมเฟตามีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานการเริ่มนำไปใช้ในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้นซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณแสดงว่าการเพิ่มขึ้นทั้งสองอย่างนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกัน และจากการรายงานเกี่ยวกับผู้ใช้ยาในทางที่ผิด พบว่าสารที่นำไปใช้เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงได้ยามาจากการสั่งจ่ายยาโดยไม่เหมาะสมของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น แต่ยังสามารถได้ยามาจากตลาดมืดซึ่งมีการกระจายยาในช่องทางที่ผิดกฎหมายอีกด้วย” องค์การสหประชาชาติจึงแนะนำให้ประเทศต่างๆ ควรมีระบบเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ให้มีการจัดการส่งเสริมให้บุคลากรในวงการแพทย์และเภสัชกรรมรวมทั้งประชาชนทราบ เพื่อช่วยกันหลีกเลี่ยงและจำกัดการสั่งจ่ายยาลดความอ้วนอย่างไม่เหมาะสม
จากการสำรวจของกองควบคุมวัตถุเสพติดพบว่ามีการจ่ายยาลดความอ้วนจากสถานพยาบาลเอกชนโดยจัดไว้เป็นชุด ให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน ประกอบด้วยยาอื่นๆด้วยประมาณ 1-6 รายการ จากกลุ่มยาดังต่อไปนี้
1.กลุ่มแอมเฟตามีน โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร
2.fenfluramine และ dexfenfluramine ยาจะลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวทำให้ไม่อยากอาหาร
3.ธัยรอยด์ฮอร์โมน เป็นยาที่เพิ่ม metabolic rate ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างเช่น น้ำหนักที่ลดลงเป็นน้ำหนักที่ลดลงที่เกิดจาก lean body mass แทนที่จะเป็นไขมัน ทำให้เกิด negative nitrogen balance ได้ และยังมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่นทำให้ใจสั่น เพิ่ม stroke volume และเพิ่มpulse pressure เป็นต้น การใช้ยานี้ร่วมกับ phentermine น่าจะเป็นข้อควรระวังอย่างยิ่งเนื่องจาก ยา phentermine นั้น มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีโรค hyperthyroidism เพราะอาจจะไปเสริมฤทธิ์กันสำหรับผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นอันตรายกับผู้ป่วยได้
4.ยาขับปัสสาวะ มีผลต่อการสูญเสียน้ำในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผอมลงเนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา
5.ยาถ่ายหรือยาระบาย จะกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผอมลงเร็วเนื่องจากน้ำหนักลดหลังจากใช้ยา
6.วิตามิน ยานี้ให้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ยาคือการขาดวิตามิน เนื่องจากรับประทานอาหารน้อยลงและการใช้ยาระบาย
7.ยากลุ่ม b-blockers เช่น propanolol ยาจะลดอาการใจสั่นที่เป็นผลข้างเคียงของยากลุ่มอนุพันธ์แอมเฟตามีน และธัยรอยด์ฮอร์โมน ยากลุ่มนี้ปกติจะใช้เพื่อการรักษาความดันโลหิตสูง ยาออกฤทธิ์ยับยั้ง sympsthomimetic effect ที่หัวใจ จะลด cardiac output ลดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
8.ยานอนหลับ เช่น diazepam เนื่องจากผลข้างเคียงของยากลุ่มอนุพันธ์แอมเฟตามีนซึ่งกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ จึงมีการจ่ายยานี้ร่วมด้วย
จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างของกองควบคุมวัตถุเสพติดในสถานพยาบาลเอกชน พบว่าการจ่ายยาของแพทย์เพื่อลดน้ำหนัก มีรูปแบบหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
รูปแบบที่ 1 ที่แพทย์ให้ร่วมกัน คือ phentermine, biscodyl (ยาระบาย), diazepam และ vitamin
รูปแบบที่ 2 phentermine, thyroxine (ธัยรอยด์ฮอร์โมน), hydrochlorothiazide (hctz, ยาขับ
ปัสสาวะ), lexotan (ลดอาการวิตกกังวล) และ senokot (ยาระบาย)
รูปแบบที่ 3 phentermine, propanolol, diazepam, hctz
รูปแบบที่ 4 phentermine, propanolol, diazepam, thyroid extract (ธัยรอยด์ฮอร์โมน), bisacodyl (ยาถ่าย), furosemide (ยาขับปัสสาวะ)
รูปแบบที่ 5 phentermine, fenfluramine, thyroxine เป็นต้น
ซึงในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นไทยจำนวนมากโดยเฉพาะสตรีนิยมใช้ยาลดความอ้วนในการลดน้ำหนัก และมีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอมมาก จึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี และเสื้อผ้าที่เรียกว่าทันสมัยในปัจจุบันก็มีขนาดเล็กมาก ทำให้ผู้ที่ไม่นิยมออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักหันมาเข้าคลินิกลดความอ้วนซึ่งมีเปิดบริการเพิ่มขึ้นมากในขณะนี้
การใช้ยาลดความอ้วนตามหลักที่ถูกต้องมีหลักการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่จากการสำรวจพบว่าการเปลี่ยนการควบคุมให้ยาลดความอ้วนกลุ่มแอมเฟตามีน ที่ให้จ่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น โดยยกระดับขึ้นมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 นั้น พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อย่างไม่ถูกหลักการแพทย์ยังมีอยู่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกำลังดำเนินการแก้ปัญหา เพื่อให้มีการใช้ยาในประเทศอย่างถูกต้อง และลดการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากยาลดความอ้วนกลุ่มนี้เป็นยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด จึงเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจประการหนึ่ง และการที่ประชาชนบริโภคยา
บรรณานุกรม
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยาลดความอ้วน phentermine คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=7
แนวทางการป้องกันและรักษาโรคอ้วนในประชากรไทย โดย พันเอกหญิงรองศาสตราจารย์ พรฑิตา ชัยอำนวย โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ปี 2545