ความหมายของสารเสพติดและสารระเหย
สารระเหย หมายความว่า สารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ ที่อาจนำไปใช้เพื่อสนองความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งทำให้สุขภาพโดยทั่วไปทรุดโทรมลง ซึ่งเป็นนิยามตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การประกาศเป็นสารระเหย เมื่อรัฐมนตรีเห็นว่าอาจนำไปใช้หรือได้นำไปใช้เพื่อบำบัดความต้องการของร่างกายหรือจิตใจ
วัตถุประสงค์ของการควบคุมสารระเหย เพื่อป้องกันการนำสารระเหยไปใช้ในทางที่ผิด ปัจจุบันมีการกำหนดสารเคมี 18 ชนิด และผลิตภัณฑ์ 5 รายการ เป็นสารระเหย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การระบุชื่อ ประเภท ชนิดหรือขนาดบรรจุของสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหย พ.ศ. 2554
สารระเหยที่ประกาศควบคุมตามกฎหมาย รวม 23 ชนิด
1. ผลิตภัณฑ์ที่มีสารระเหยเป็นส่วนประกอบ 5 ชนิด ได้แก่
1.1 ทินเนอร์ (Thinners)
1.2 แลคเกอร์ (Lacquers)
1.3 กาวอินทรีย์สังเคราะห์ (Synthetic organic adhesives) ที่มียางนิโอปรีน (Neoprene based) หรือสารกลุ่มไวนิล ( Vinyl resin based ) เป็นตัวประสาน
1.4 กาวอินทรีย์ธรรมชาติ ( Natural organic adhesive ) ที่มียางสนหรือชันสน (Rosin) ยางธรรมชาติ ( Natural rubber หรือ Isoprene ) หรือสารเซลลูโลส
( Cellulose compounds ) เป็นตัวประสาน
1.5 ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ หรือลูกโป่งพลาสติก (Blowing balloon)
2. สารระเหยที่เป็นสารเคมี 18 ชนิด ได้แก่
2.1 โทลูอีน (Toluene) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า methylbenzene มีสูตรทางเคมีเป็น C6H5CH3 [CAS Number 108-88-3]
2.2 อาซีโทน (Acetone) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า propan-2-one มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COCH3 [CAS Number 67-64-1]
2.3 เมทิลเอทิลคีโทน (Methyl ethyl ketone) หรือ เอ็มอีเค (MEK) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า butan-2-one มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COCH2CH3 [CAS Number 78-93-3]
2.4 เมทิลไอโซบิวทิลคีโทน (Methyl isobutyl ketone) หรือ เอ็มไอบีเค (MIBK) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 4-methylpentan-2-one มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COCH2CH(CH3)2 [CAS Number
108-10-1]
2.5 เอทิลอาซีเทต (Ethyl acetate) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า ethyl acetate มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COOC2H5 [CAS Number 141-78-6]
2.6 เซลโลโซล์ฟอาซีเทต (Cellosolve acetate) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 2-ethoxyethyl acetate มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COOCH2CH2OC2H5 [CAS Number 111-15-9]
2.7 เมทิลอาซีเทต (Methyl acetate) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า methyl acetate มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COOCH3 [CAS Number 79-20-9)
2.8 นอร์มาลบิวทิลอาซีเทต (n-Butyl acetate) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า butyl acetateมีสูตรทางเคมีเป็น CH3COO(CH2)CH3 [CAS 123-86-4]
2.9 เซคันดารีบิวทิลอาซีเทต (sec-Butyl acetate) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า butan-2yl acetate มีสูตรทางเคมีเป็น CH3COOCH(CH3)CH2CH3 [CAS Number 105-46-4]
2.10 เอมิลไนไตรท์ (Amyl nitrite) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 3-methylbutyl nitrite มีสูตรทางเคมีเป็น (CH3)2CH CH2CH2ONO [CAS Number 110-46-3]
2.11 ไซโคลเฮ็กซิลไนไตรท์ (Cyclohexyl nitrite) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า Cyclohexyl nitrite มีสูตรทางเคมีเป็น C6H11ONO [CAS Number 5156-40-1]
2.12 เอทิลไนไตรท์ (Ethyl nitrite) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า ethyl nitrite มีสูตรทางเคมีเป็น CH3CH2ONO [CAS Number 109-95-5]
2.13 ไอโซ-บิวทิลไนโตร์ท (Isobutyl nitrite) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 2-methylpropyl nitrite มีสูตรทางเคมีเป็น (CH3)2CHCH2ONO [CAS Number 542-56-3]
2.14 ไอโซโพรพิลไนไตรท์ (Isopropyl nitrite) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า propan-2-yl nitrite มีสูตรทางเคมีเป็น (CH3)2CHONO [CAS Number 541-42-4]
2.15 นอร์มาล-บิวทิลไนโตร์ท (n-Butyl nitrite) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า butyl nitrite มีสูตรทางเคมีเป็น CH3CH2CH2CH2ONO [CAS Number 554-16-1]
2.16 บิลทิลเซลโลโซล์ฟ (Butyl cellosolve) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 2-butoxyethanol มีสูตรทางเคมีเป็น HOCH2CH2OC4H9 [CAS Number 111-76-2]
2.17 เซลโลโซล์ฟ (Cellosolve)(Butyl cellosolve) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 2-ethoxyethanol มีสูตรทางเคมีเป็น HOCH2CH2OC2H5 [CAS Number 110-80-5]
2.18 เมทิลเซลโลโซล์ฟ (Methyl cellosolve) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า 2-methoxyethanol มีสูตรทางเคมีเป็น HOCH2CH2OCH3 [CAS Number 109-86-4]
ลักษณะของสารระเหย คือ เป็นสารเคมีที่ระเหยได้ง่าย มีลักษณะเป็นไอ ระเหยได้ในอากาศและมีคุณสมบัติในการทำลายและใช้ในการอุตสาหกรรม เช่น ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ กาว ฯลฯ เรานำสารระเหยมาใช้เป็นส่วนผสมในสีสเปรย์ น้ำยาล้างเล็บ กาวยางน้ำ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของสารระเหยไม่ใช่สารเสพติดแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม แต่ที่กลับกลายมาเป็นปัญหาเพราะคนนำมาใช้ในทางที่ผิด จงใจสูดดมให้เกิดอาการมึนเมาจนติด เกิดโทษพิษภัยอย่างมหันต์ เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่หลงผิดหันไปลองสูดดมสารระเหย และเกิดภาวะเสพติดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
คุณสมบัติของสารระเหย เนื่องจากสารระเหยมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย พกพาสะดวก ออกฤทธิ์เร็ว และ ช่วยให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้ม เป็นสุข ร่าเริง ลืมความทุกข์ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ของการเสพสารระเหย ทำให้ผู้เสพตัดสินใจเสพสารระเหยง่ายขึ้น
2. ผลิตภัณฑ์ที่นับว่าเป็นสารระเหย เช่นอะไรบ้าง
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารระเหยนั้น คือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสารระเหยเป็นส่วนประกอบอยู่ในผลิตภัณฑ์ พบมาในทางอุตสาหกรรม อาทิ
– ทินเนอร์ แลคเกอร์
– น้ำยาทาเล็บ น้ำยาล้างเล็บ และเครื่องสำอางบางประเภท
– ตัวทำละลายในอุตสาหกรรมผลิตสี
– น้ำมันไฟแช็ก น้ำยาทำความสะอาด
– กาว อุตสาหกรรมทำยาง อุตสาหกรรมทำพลาสติก
– สารแต่งกลิ่นบางชนิด ฯลฯ
โดยผลิตภัณฑ์บางตัว ได้แก่ ทินเนอร์ แลคเกอร์ กาวอินทรีย์สังเคราะห์ กาวอินทรีย์ธรรมชาติ และลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกันมาก ดังนั้นกฎหมาย จึงระบุให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายต้องตามกฎหมาย
3. การใช้สารระเหยจะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยากับร่างกายตอนต้นอย่างไร
เนื่องจากสารระเหยมีฤทธิ์กดประสาท (Depressant) เข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วด้วยการสูดดม โดยจะแพร่กระจายจากปอดเข้าสู่กระแสโลหิตและไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ตลอดจนสามารถกระจายเข้าสู่สมอง และระบบประสาทได้ดี ผู้เสพสารระเหยจึงนิยมเสพด้วยวิธีสูดดม การรับรู้ถึงวิธีการเสพสารระเหยนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองในการสังเกตเฝ้าระวังพฤติกรรมของบุตรหลาน ตลอดจนบุคคลใกล้ชิด ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการเสพสารระเหยที่อาจเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวได้ทันท่วงที ซึ่งการเสพสารระหยด้วยวิธีสูดดมนี้สามารถกระทำผ่านวิธีการต่างๆ ได้ดังนี้
1. ใส่สำลีห่อด้วยผ้าเช็ดหน้า การเสพวิธีนี้ ฝ่ามือของผู้เสพจะมีลักษณะไหม้เป็นสีน้ำตาล เนื่องจากสารระเหยระคายเคืองผิวหนังบริเวณฝ่ามือ
2. ใส่ในหลอดยาดม โดยเอาไส้ยาดมออก แล้วเอาสำลีชุบสารระเหยใส่แทน
3. เสพโดยตรงจากขวด โดยเปิดฝาขวดและสูดดมทันที
4. ใส่ถุงพลาสติก โดยฉีดสเปรย์ใส่ถุงและสูดดมจนหมดกลิ่น วิธีนี้อันตรายมากเนื่องจากปริมาณความเข้มข้นของสารระเหยสูง
อาการผู้เสพ ผู้เสพสารระเหยในระยะแรกจะรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุข ร่าเริง ศีรษะเบาหวิว ตื่นเต้น หลังจากนั้นจะมีอาการคล้ายคนเมาเหล้า ควบคุมตนเองไม่ได้ เดินโซเซ ตาพร่ามัว น้ำลายไหลมาก ถ้ายังสูดดมต่อไปอีกจะง่วงนอน ซึม และหมดสติในที่สุด
โทษต่อผู้เสพ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณการเสพ ประวัติการใช้ยาของผู้เสพ วิธีการเสพ ความแข็งแรงและภูมิต้านทานของร่างกาย ตลอดจนชนิดของเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผสมในสารระเหย ที่ผู้เสพสูดดม โดยพิษที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 พิษเฉียบพลัน หลังจากเกิดอาการเคลิ้มเป็นสุข ร่าเริง ตื่นเต้น ต่อมาจะมึนงง พูดจาอ้อแอ้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นจะคลื่นไส้ อาเจียน หายใจถี่เบาและเร็ว ประสาทหลอน หากสูดดมในปริมาณมากอาจชักหมดสติ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะและอาจหัวใจวาย หรือสารระเหยอาจกดศูนย์หายใจทำให้ตายได้
4. ผลกระทบระยะยาวในการใช้สารระเหยนั้นจะเป็นอย่างไร
ระยะที่ 2 พิษเรื้อรัง การสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ระบบอวัยวะต่างๆ อาทิ ระบบประสาทส่วนกลาง ประสาทส่วนปลาย กล้ามเนื้อ ทางเดินหายใจ หัวใจ โลหิต และระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ เสื่อมสภาพลง อาการที่เกิดขึ้น เช่น
2.1 อาการทางระบบประสาท โดยทำให้เกิดอาการวิงเวียน เดินโซเซ ลูกตาแกว่ง พูดลำบาก มือสั่น ตัวสั่น เซื่องซึม ความคิดอ่านช้าลง หลงลืม สับสน นิสัยและอารมณ์เปลี่ยนแปลง ความจำเสื่อม สมองฝ่อ การรับรู้ต่างๆ เช่น การได้กลิ่นผิดปกติ การมองเห็นอาจเห็นภาพซ้อน หรืออาจเกิดอาการปลายประสาทอักเสบ ชาตามมือ ปลายเท้า
2.2 อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ กดการทำงานของไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดแดงต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย อ่อนเพลีย บางรายอาจเกิดมะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้
2.3 อาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดอาการระคายเคือง จนถึงอักเสบตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงหลอดลม ปอด ถุงลม อาจเกิดอาการน้ำคั่งในปอด มีเลือดออกในถุงลม
2.4 อาการทางระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายพบเลือดออกในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทำลายเนื้อเยื่อของตับเป็นหย่อมๆ ตับโต ตับและไตอักเสบ บางรายปัสสาวะเป็นเลือด
2.5 อาการทางระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อลีบ จนถึงเป็นอัมพาตได้
2.6 ระบบสืบพันธุ์ เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซม ซึ่งมีหน้าที่ ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จึงอาจลดการสร้างอสุจิ
ผู้เสพสารระเหยจะเกิดการติดทางด้านจิตใจ นอกจากนี้แล้วการติดทางด้านร่างกาย ก็อาจเกิดขึ้นได้ถ้าสูดดมสารระเหยประเภทที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเช่น ทินเนอร์ แลคเกอร์ เป็นต้น เมื่อไม่ได้เสพอาจเกิดอาการหงุดหงิด หาวนอน ปวดท้อง เหงื่ออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน จาม คัดจมูก ปวดตามกล้ามเนื้อ ฟุ้งซ่าน น้ำตาไหล ขนลุก ตะคริว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดกระดูก เจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการขาดยา (Withdrawal Symptoms)
5. มาตรการป้องกันและบทกำหนดโทษ
เราสามารถป้องกันการติดสารระเหยได้โดยการปฏิบัติดังนี้
1. รู้จักป้องกันตนเอง โดยการหาความรู้เกี่ยวกับสารระเหย อย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้เสพ เมื่อมีปัญหาควรใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา ปรึกษาผู้ใหญ่ หรือหาทางออกโดยการเล่นกีฬา และทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ
2. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้สารระเหยในการประกอบอาชีพหรือทำงาน ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำบนฉลาก และขณะที่ใช้สารระเหยควรใช้ผ้าปิดปากจมูก อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรืออยู่เหนือลม เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับสารระเหย
3. สำหรับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกต และสอดส่องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ด้วยการให้ความรัก ความเข้าใจ ตลอดจนให้เวลาแก่บุตรหลานของตนเองอย่างเพียงพอ หากพบผู้ใดติดสารระเหย ไม่ควรกระทำการรุนแรง ควรรีบหาสาเหตุ และแก้ไข โดยปรึกษาแพทย์ และนำไปบำบัดรักษาในสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป
ฉลากสารระเหย
จากการที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ฉลากผลิตภัณฑ์จึงเสมือนสื่อกลางที่ช่วยสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบถึงข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารระเหย จึงต้องจัดให้มีภาพ/เครื่องหมาย/ข้อความที่ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสารระเหยตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1) คำว่า “สารระเหย” ให้ใช้ตัวอักษรสีแดงบนพื้นขาว
2) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า แล้วแต่กรณี
3) ปริมาณที่บรรจุเป็นระบบเมตริก
4) ชื่อทางเคมีและอัตราส่วนของสารผสมทั้งหมดในสารระเหย
5) วิธีใช้และวิธีเก็บรักษา
6) คำว่า “คำเตือน ห้ามสูดดมเป็นอันตรายต่อชีวิต” ให้ใช้ตัวอักษรสีแดงบนพื้นขาว
สำหรับสารระเหยที่บรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่มีขนาดบรรจุเกิน 550 มิลลิลิตร หรือ 550 กรัม หากมีการจัดภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขแห่งกฎหมายอื่นแล้ว ก่อนนำออกขายผู้ผลิต หรือนำเข้าสารระเหย จะไม่จัดให้มีข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหย ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงก็ได้
.
มาตรการควบคุมการใช้สารระเหยและบทกำหนดโทษ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของสารระเหยในหมู่ผู้เสพ คือ หาซื้อได้ง่าย ดังนั้นผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ตลอดจนผู้จำหน่ายสารระเหยซึ่งนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมการใช้สารระเหย จึงควรให้ความร่วมมือโดยการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดมาตรการควบคุมการใช้สารระเหย และบทลงโทษไว้ ดังนี้
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ขาย และใช้สารระเหย
บทบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้อง | บทกำหนดโทษ |
มาตรา 97 ห้ามผู้ใดผลิตหรือนำเข้าสารระเหย โดยก่อนนำออกจำหน่าย ไม่จัดให้มีภาพเครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหยเพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารระเหยดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดในกฎกระทรวง | มาตรา 154 ผู้ใดผลิตหรือนำเข้าสารระเหย โดยก่อนนำออกจำหน่าย ไม่จัดให้มีภาพเครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 97 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
มาตรา 98 ห้ามผู้ใดจำหน่ายสารระเหยโดยไม่มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตามมาตรา 97 อยู่ครบถ้วน | มาตรา 155 ผู้ใดจำหน่ายสารระเหยโดยไม่มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตามมาตรา 97 อยู่ครบถ้วน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 98 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
มาตรา 99 ห้ามผู้ใดจำหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่เป็นการจำหน่ายหรือจัดหาโดยสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน | มาตรา 156 ผู้ใดจำหน่ายสารระเหยแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 99 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
มาตรา 100 ห้ามผู้ใดจำหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย | มาตรา 157 ผู้ใดจำหน่ายสารระเหยแก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 100 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการจำหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
หมายเหตุ
• กฎกระทรวง (พ.ศ.2534) ให้ผู้ผลิต / นำเข้า สารระเหย ก่อนนำออกขายต้องทำฉลาก มีข้อความตามที่กำหนด
• ตัวอย่างฉลากสารระเหยที่ถูกต้อง
update มกราคม 2566