สาระสำคัญการควบคุมตามกฎหมาย

สาระสำคัญการควบคุมตามกฎหมาย


สาระสำคัญการควบคุมตามกฎหมาย

วัตถุออกฤทธิ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1  เป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ยาในทางที่ผิด มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง และ ไม่มีการใช้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มีฤทธิ์หลอนประสาท ได้แก่ Mescaline, Psilocybin, DMT, DET, Cathinone เป็นต้น กฎหมายจึงห้ามเด็ดขาดไม่ให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง

วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2  เป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดสูง มีอันตรายต่อสุขภาพมากหากใช้ไม่เหมาะสมหรือไม่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่ Phentermine, Midazolam, Zolpidem, Methylphenidate, Ketamine, Pseudoephedrine เป็นต้น

กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใด ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข

วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 เป็นยามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดปานกลาง เช่น Amobarbital, Pentobarbital, Pentazocine เป็นต้น

วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นยาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และศักยภาพในการก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดต่ำ เช่น Diazepam, Lorazepam, Clorazepate, Chlordiazepoxide เป็นต้น

กฎหมาย ห้ามมิให้บุคคลใด ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ 4 หรือนำผ่านวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท เว้นแต่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ไม่ใช้บังคับแก่

  1. ผู้ประกอบผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ 4 ไว้ในครอบครองในปริมาณที่กฎหมายกำหนด เช่น Amobarbital ครอบครองได้ไม่เกิน 10 กรัม Diazepam ครอบครองได้ไม่เกิน 10 กรัม Lorazepam ครอบครองได้ไม่เกิน 2 กรัม เป็นต้น
  2. การผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก โดยกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย
  3. การมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ 4 ตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด