คำตอบ
ตามมาตรา 4 พรบ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ให้นิยามของผู้ป่วยว่า “ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ขอรับบริการในสถานพยาบาล ดังนั้นการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยของตนโดยปกติทั่วไปควรกระทำในสถานพยาบาลของตน ไม่สมควรจ่ายยานอกสถานพยาบาล นอกจากนี้ การใช้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 เป็นประจำติดต่อกันอาจทำให้เกิดการเสพติด ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ หรืออาจมีการลักลอบนำไปใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดปัญหาสังคมได้ ดังนั้นเพื่อให้มีการนำวัตถุออกฤทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างถูกต้อง จึงจำกัดให้ผู้มีสิทธิ์สั่งจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ได้คือ แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ที่สั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่ตนให้การรักษา ดังนั้นแพทย์ผู้ให้การรักษา จึงควรมีการตรวจผู้ป่วยซึ่งตนให้การรักษา ตามหลักวิชาการ และจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ก่อนพิจารณาสั่งจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ให้กับผู้ป่วยนั้นๆ สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางมาที่สถานพยาบาลได้นั้น ทางสถานพยาบาลอาจต้องออกหน่วยเคลื่อนที่ไปพบผู้ป่วยแทนหรืออาจพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่สะดวกต่อการเดินทางไปพบแพทย์ของผู้ป่วยแทน