alprazolam หรือ ยาเสียตัว
28 มีนาคม 2566

ยาอัลปราโซแลม (alprazolam)  เป็นยากลุ่ม benzodiazepine ที่ออกฤทธิ์สั้นหรือนานปานกลาง เช่นเดียวกับ lorazepam มีชื่อทางการค้า เช่น zolam® , xanax® เป็นต้น ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล สงบระงับ และช่วยให้นอนหลับ มีการดูดซึมยา ( t max) ภายใน 1-2 ชั่วโมง จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ 67-72 % และมีค่าครึ่งชีวิต 11.1 – 19 ชั่วโมง

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ที่พบ เช่น คลายกล้ามเนื้อลาย (muscle relaxants) ต้านอาการชัก (antiepileptics) ทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ (anterograde amnesia) ความสามารถในการเรียนรู้ และความจำลดลง สมรรถภาพในการทำงานที่ต้องใช้ความชำนาญ หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง

เนื่องจากยานี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางจึงมีผู้ที่นำยานี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่นที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นต้น

ขนาดและวิธีใช้ : ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ1/2 – 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยหนัก ควรลดขนาดยาลง

การติดยา  การใช้ยากลุ่ม benzodiazepines ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการ ติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้

คำเตือนหรือข้อควรระวัง :

1. อาจทำให้ง่วงซึมไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือ ในที่สูง

2. ห้ามดื่มสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่

3. อาจเกิดผลตรงข้ามกับฤทธิ์ของยาที่ให้ (paradoxical reaction)

4. อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้

5. สตรีมีครรภ์ สตรีระยะให้นมบุตร โรคต้อหิน โรคไมแอส ตีเนียแกรวีส (myasthenia gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (porphyria) หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

6. ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากแพทย์สั่ง

7. หากใช้ร่วมกับยาอื่น เช่นยากดหรือกระตุ้นประสาท ยาคุมกำเนิด ยาต้านฮิสตามีน รวมทั้ง cimetidine ควรปรึกษาแพทย์

8. หากมีอาการนอนไม่หลับ ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ กล้ามเนื้อเปลี้ย หรือมีไข้ ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์

การกำกับดูแลตามกฎหมาย :

เดิมยานี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ซึ่งยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (alprazolam) จากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2

สำหรับปัจจุบัน (alprazolam) ควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด


บทลงโทษ.png


การจัดทำรายงาน ผู้รับอนุญาต ต้องจัดให้มีการทำบัญชีรับ-จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ และเสนอรายงานให้เลขาธิการทราบเป็นรายเดือนและรายปี บัญชีดังกล่าวต้องเก็บรักษาไว้และพร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาขณะเปิดดำเนินการ


ซึ่งแต่ละกลุ่มของผู้เกี่ยวข้องจะมีข้อปฏิบัติที่ต่างกัน ดังนี้

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เกี่ยวข้องเมื่อยกระดับการควบคุม Alprazolam เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2


airprazolam.png


ประกาศที่เกี่ยวข้อง

  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม (ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม) หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง (ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง) มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต พ.ศ. ๒๕๕๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕
  2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕
  3. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ ๑๐๐๓.๕/ว๕๒๓ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง แจ้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยกระดับการควบคุม Alprazolam (แจ้งเวียนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด)
  4. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ ๑๐๐๓.๕/ว๖๗๓ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๖ เรื่อง แจ้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยกระดับการควบคุม Alprazolam (แจ้งเวียนผู้รับอนุญาตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔)