โคเดอีนผลิตมาจากฝิ่น ซึ่งเป็นน้ำยาง (juice) ที่กรีดได้จากผลฝิ่น มีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า papaver somniferum ซึ่งหมายความว่า เหนี่ยวนำให้หลับ ฝิ่นถือเป็นยาเสพติดร้ายแรงที่สร้างปัญหาให้แก่มวลมนุษยชาติ และเป็นยาเสพติดชนิดแรกที่คนไทยรู้จัก
“ฝิ่น” นอกจากสามารถให้ผลผลิตคือโคเดอีนแล้ว ยาเสพติดอื่น ได้แก่ มอร์ฟีนและเฮโรอีน ต่างก็ผลิตได้จากฝิ่นเช่นกัน ทั้งมอร์ฟีนและเฮโรอีนจึงมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคล้ายกับโคเดอีน เคยมีการนำเฮโรอีนมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยใช้เป็นยาระงับปวด แต่ต่อมามีการนำไปใช้ในทางที่ผิด มีประชาชนติดเฮโรอีนเป็นจำนวนมาก เฮโรอีนจึงเป็นสารต้องห้ามในทางการแพทย์ และก็กลายเป็นปัญหาให้แก่สังคมในปัจจุบัน
เนื่องจากโคเดอีน มอร์ฟีน และเฮโรอีน มีแหล่งกำเนิดหรือผลิตมาจากแหล่งเดียวกันคือ ฝิ่น ดังนั้นจึงมีสูตรโครงสร้างโมเลกุลและคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคล้ายกัน คือ ระงับอาการปวดและระงับอาการไอ และที่สำคัญเป็นยาเสพติดที่ได้มาจากฝิ่น จึงมีฤทธิ์ทำให้ผู้ใช้เกิดการติดยา
การออกฤทธิ์ โคเดอีน ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ( central nervous system , CNS) มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคือ ระงับปวด และมีประสิทธิภาพในการะงับอาการไอได้ดีมาก โดยออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอในสมอง ด้วยคุณสมบัติของโคเดอีนที่มีฤทธิ์ระงับอาการไอ ในทางการแพทย์จึงนำโคเดอีนเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตยาแก้ไอ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขออนุญาตผลิตยาแก้ไอที่ผสมโคเดอีนหลายชื่อการค้าด้วยกัน มีทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด โดยตำรับยาน้ำแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม จะมีโคเดอีนเป็นส่วนประกอบ ประมาณ 9-10 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร ขนาดรับประทานครั้งละ 5-10 มิลลิลิตร ส่วนตำรับยาแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมชนิดเม็ด จะมีโคเดอีนเป็นส่วนประกอบ ประมาณ 10 มิลลิกรัม / เม็ด หรือแคปซูล
อาการไม่พึงประสงค์ของการใช้โคเดอีน คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม ท้องผูก
– การใช้ยาในขนาดที่สูงๆ ทำให้การหายใจหยุด ช็อก และหัวใจหยุดเต้น
– การใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานทำให้เกิดการติดยาได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ข้อควรระวัง ขณะที่ใช้ยาไม่ควรขับขี่ยวดยานหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
การนำยาแก้ไอที่ผสมโคเดอีนมาใช้ในทางที่ผิด เริ่มปรากฎการแพร่ระบาดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นบริเวณจังหวัดชายแดนทางภาคใต้ของประเทศ โดยใช้ผสมกับน้ำอัดลมและใส่น้ำแข็งดื่ม อาจผสมกับยาบางชนิด หรือดื่มโดยไม่ผสมอะไรเลย ทั้งนี้ แหล่งกระจายยาไปสู่ผู้ใช้ พบว่า มาจากร้านขายยาหรือโรงงานผลิตยาบางแห่ง และบางส่วนก็มีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาขายในตลาดมืด ผลของการใช้ยาแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม ในกรณีที่นำไปใช้ในทางที่ผิด จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม และที่สำคัญ การใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานทำให้เกิดการติดยาทั้งทางกายและจิตใจ และมีอาการถอนยาเมื่อขาดยา เช่นเดียวกับการติดมอร์ฟีนหรือเฮโรอีน ซึ่งจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจึงจะหายจากการติดยาได้
การควบคุมตามกฎหมาย
โคเดอีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ยาแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท3 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย นอกจากได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและตามกฎกระทรวง ควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม พ.ศ. 2546 กำหนดให้ ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม สามารถจำหน่ายได้เฉพาะให้แก่สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น และหากได้ขนส่งยาเสพติดให้โทษดังกล่าวนี้ออกไปนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ผู้รับอนุญาต ต้องจัดให้มีสำเนาเอกสารกำกับการขนส่งยาเสพติดให้โทษนั้น เพื่อการตรวจสอบระหว่างการขนส่งด้วย มีได้เฉพาะสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น
บทกำหนดโทษสำหรับยาแก้ไอที่ผสมโคเดอีน
บรรณานุกรม
การควบคุมยาแก้ไอผสมโคเดอีน : ธวัช ทองมณี
ยาน้ำแก้ไอที่ผสมโคเดอีน กองควบคุมวัตถุเสพติดพ.ศ. 2547
อ่านเพิ่มเติม
– กฎกระทรวง ควบคุมการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท3 ตำรับที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม พ.ศ. 2546
update มกราคม 2566