ยานอนหลับโดมิคุม (Dormicum หรือ Midazolam)
28 มีนาคม 2566

dormicum or midazolam.png

CAS number     59467-70-8

เป็นยานอนหลับ ในกลุ่ม short acting benzodiazepine ที่ดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับยานอนหลับตัวอื่นๆ มีค่าครึ่งชีวิตสั้นมากประมาณ 2 ชั่วโมง มี active metabolite ที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้นมากเช่นกัน จึงเหมาะสำหรับคนที่หลับยาก แต่เมื่อหลับแล้วจะหลับได้ปกติจนถึงเช้า ไม่เหมาะที่จะให้คนหลับได้เองแต่มักตื่นกลางดึก ใช้เป็นยาช่วยในการนอนหลับในคืนก่อนจะทำศัลยกรรม หรือการใช้เครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ  ยาตัวนี้อาจทำให้เกิดภาวะจำสิ่งที่ตนกระทำไม่ได้  พบรายงานการเกิด anterograde amnesia ได้บ่อย นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการสับสน automatic behavior, disinhibition หรือในบางรายอาจมีอาการประสาทหลอนเหมือนผู้ป่วยโรคจิตได้ ดังนี้จึงควรระวังการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ


รูปแบบเภสัชภัณฑ์
  ทั้งแบบยาเม็ด ( ขนาด 15 มิลลิกรัม/เม็ด) และยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ  ( ขนาด 5มิลลิกรัม/มิลลิลิตร/แอมพูล และ15มิลลิกรัม/3มิลลิลิตร/แอมพูล )


ขนาดการใช้

ขนาดยาปกติ คือ 1 เม็ด ( 15 มก. ) ในผู้สูงอายุ ถ้าแพทย์เห็นสมควรอาจให้ซ้ำอีก (1/2 – 1 เม็ด) ในตอนดึกคืนนั้นอีกก็ได้ เนื่องจากมิดาโซแลม ออกฤทธิ์เร็ว จึงกินทันทีก่อนจะเข้านอน  เมื่อใช้ขนาดปกติได้ผลแล้วสำหรับสองสามคืนแรก ต่อมาจะลดเหลือ 1/2 เม็ดก็ได้ การให้ยาโดยการรับประทานจะเริ่มปรากฏฤทธิ์ที่ทำให้ง่วงที่เวลาประมาณ 15 นาที ขณะที่การฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 1-5 นาที  สำหรับการใช้ยาก่อนทำศัลยกรรม อาจให้ มิดาโซแลม 1 เม็ด กิน 30 – 60 นาที ก่อนผ่าตัด นอกจากในรายที่แพทย์จะต้องการให้ชนิดฉีด


อาการไม่พึงประสงค์ 

อาการที่พบบ่อยได้แก่ ง่วงซึม เดินเซ หากได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะพึ่งยาทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ และเมื่อหยุดยากะทันหันก็อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาคือ อาการนอนไม่หลับ (rebound insomnia) การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอาจกดการหายใจ และทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ

อาการอื่นๆที่พบบ้างได้แก่ พฤติกรรมบกพร่อง ความจำด้อยลง ปวดศรีษะ มึนงง สับสน วิตกกังวล ไม่อยู่นิ่ง เปลี้ย เวียนศรีษะ เพ้อ กระสับกระส่าย เดินเซ ฝันร้าย พูดไม่ชัด คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก


ข้อจำกัดในการใช้

ไม่ควรใช้มิดาโซแลม สำหรับอาการนอนไม่หลับในรายที่เป็นโรคจิตหรือมีอาการซึมเศร้าอย่างแรง ซึ่งในกรณีเช่นนี้แพทย์จะต้องรักษาที่ต้นเหตุเสียก่อน เช่นเดียวกับยาสงบประสาทชนิดอื่นๆ ควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีการทำลายของเนื้อสมอง ระบบการหายใจบกพร่องอย่างแรง หรือผู้ป่วยทีสุขภาพทั่วไปไม่ดี (ผู้ป่วยเช่นนี้จะมีความไวต่อยามากขึ้น)

ถ้าใช้ขนาดสูงเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการติดยาได้ เช่นเดียวกับยาสงบประสาท และยากล่อมประสาทชนิดอื่นๆ รวมถึงการใช้ยาติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดภาวะพึ่งยาได้


ข้อห้ามใช้

1. ผู้ที่มีประวัติเคยติดยาหรือติดเหล้า เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติด

2. สตรีมีครรภ์และระยะให้นมบุตร โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

3. ไม่ควรใช้ในเด็กเพราะยังไม่มีข้อมูลการใช้เพียงพอ


การนำไปใช้ในทางที่ผิด   นำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม โดยเหล่ามิจฉาชีพนำไปใช้ในการมอมเมาเหยื่อเป้าหมายที่เป็นหญิงสาวตามศูนย์อาหาร หรือฟาสต์ฟู้ด ถึงแม้ว่ายาตัวนี้จะจัดเป็นยาควบคุมที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่ยังพบว่ามีการลักลอบซื้อขายกันอยู่ จึงทำให้เกิดช่องทางการนำยามาใช้ในทางที่ผิด ทั้งตัวผู้ป่วยที่ใช้ยานี้อยู่มักจะหาซื้อยามาทานต่อเอง และเหล่ามิจฉาชีพที่นำยานี้ไปใช้ในการมอมเมาเหยื่อ


การควบคุมตามกฎหมาย
  ถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายโดยกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม และผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง ใช้ประโยชน์ในการรักษาพยาบาลสำหรับคนไข้หรือสัตว์ที่ตนบำบัดอยู่ โดยห้ามขายในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันโดยเด็ดขาด


บทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 


บทลงโทษ.png


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา15 สิงหาคม 2565

บรรณานุกรม :

มานิตย์ อรุณากูร, ภก. วัตถุออกฤทธิ์ : พัฒนาการเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ , กองควบคุมวัตถุเสพติด , มกราคม 2541

เสถียร วิชัยลักษณ์ (รวบรวม), พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518
พร้อมด้วยกฎกระทรวง ประกาศกระทรวงและคำสั่งกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัตินี้, กรุงเทพมหานคร,
โรงพิมพ์นิติเวชช์ : 2535

http://en.wikipedia.org/wiki/Midazolam

ความรู้สู่ประชาขน คลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=9