ยาเค (Ketamine)
28 มีนาคม 2566


Ketamine.jpg


เคตามีน (ketamine) หรือที่รู้จักกันในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติดว่า″ยาเค” กระทรวงสาธารณสุขของไทยควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในประเภท 2   เคตามีนเป็นยาที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นยาสลบ หรือนำสลบ โดยใช้ในรูปยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือทางหลอดเลือดดำ ซึ่งออกฤทธิ์เร็ว มีสูตรคล้าย lsd และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนกับ phencyclidine (pcp) คือมีฤทธิ์ระงับปวด ยานี้จะทำให้เกิดภาวะ dissociative anesthesia ซึ่งมีอาการคล้าย cataleptic state คือ ทำให้สลบ หลับ ไม่เคลื่อนไหว สูญเสียความทรงจำ ไม่เจ็บปวด เคตามีนมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต ความดันโลหิตและอัตราการเต้นหัวใจอาจเพิ่มเล็กน้อย


ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เคตามีนเพิ่ม muscle tone ซึ่งอาจทำให้ตาของคนไข้เปิดอยู่ในระหว่างที่ถูกวางยาสลบได้ เป็นยาที่ละลายได้ดีในไขมัน เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายสามารถกระจายไปตามเนื้อเยื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถกระจายผ่านเข้าไปยัง cerebrospinal fluid และผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ half-life ประมาณ 2 ชั่วโมง

อาการข้างเคียง เคตามีน ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่นทำให้เกิดอาการฉงนงง เห็นภาพลวงตา ฝันกลางวัน หรือประสาทหลอน ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบภายหลังที่ฟื้นจากสลบ ถ้าให้ทางหลอดเลือดดำจะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น กดการหายใจเล็กน้อย ไม่ควรใช้ในคนที่เป็นโรคจิต หรือโรคความดันโลหิตสูง

การใช้ในทางที่ผิด ในปัจจุบันได้มีผู้นำเคตามีนไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อหวังฤทธิ์ในการหลอนประสาท (hallucination) โดยนำเคตามีนชนิดฉีดมาทำให้แห้งเหลือแต่ตะกอนสีขาว แล้วเสพโดยการสูดดม (snort) หรือสูบควัน (smoke) ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคจิตได้ (psychosis)

การเสพยาเคเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้เสพทนต่อฤทธิ์ยา ทำให้ต้องใช้ยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึงจะออกฤทธิ์เท่าเดิม ทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะการใช้ยาเคในขนาดที่สูง จะทำให้เกิดการอาเจียน ชัก สมองและกล้ามเนื้อขาดออกซิเจนได้ การใช้ยาเคในขนาดที่สูงถึง 1 กรัมอาจทำให้ตายได้ นอกจากนี้การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการติดยาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

บทกำหนดโทษ ยาเค (Ketamine) ปัจจุบันถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์นประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด


บทลงโทษ.png