แอลเอสดี (LSD)
28 มีนาคม 2566

แอลเอสดี (LSD : lysergic acid diethylamide) มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างแรง LSD เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาจาก lysergic acid ของสารจำพวก ergot ซึ่งเป็นรา (fungus) ที่ขึ้นอยู่ตามเมล็ดข้าวไร ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย ค้นพบในปี พ.ศ.2481 โดย ดร.อัลเบิร์ท ฮอฟมันน์ (Dr. Albert Hofmann) นักเคมีชาวสวิส โดยสกัดได้จากเชื้อราชนิดหนึ่งจากเมล็ดข้าวไร

lsd.png

การออกฤทธิ์ ทำให้รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เหงื่อออก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปากแห้ง และมือไม้สั่น ผู้ที่เสพในระยะแรก ๆ จะมีความสุข อารมณ์ดี รู้สึกคึกคัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง มีอาการหวาดกลัว จนกระทั่งอาจทำร้ายตนเอง หรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยที่ผู้นั้นไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ หากเสพแอลเอสดีติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคจิตได้

เอลเอสดีนิยมเสพกันมากในยุค “บุปผาชน” หรือ “ฮิปปี้” (Hippie) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1960-1970 โดยเฉพาะกลุ่มศิลปิน นักประพันธ์ และนักดนตรี เพื่อหลบหลีกความเลวร้ายของโลก เข้าหาอิสระเสรีภาพในจินตนาการ อันนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานนอกกรอบใหม่ ๆ แต่แน่นอนว่าต้องแลกกับสภาวะจิตวิกลจริต

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2509 ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศให้สาร “แอลเอสดี” เป็นสิ่งเสพติดสำหรับประเทศไทย แอลเอสดีถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท ผู้เสพต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


การเสพ LSD   มักเสพโดยการรับประทานสูดดม เคี้ยว หรืออม มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เม็ดกลมแบน แคปซูล แผ่นเจล (gelatin sheets) ของเหลวบรรจุในหลอดแก้ว ส่วนใหญ่ที่พบจะนำเอา LSD ไปหยดลงบนกระดาษสี่เหลี่ยม ที่มีคุณสมบัติดูดซับ เรียกว่า blotter paper ที่มีลวดลายและสีสันต่างๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้ายสแตมป์ นิยมเรียกกันในหมู่ผู้เสพว่า สแตมป์เมา กระดาษเมา (magic paper) จะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที และมีฤทธิ์อยู่ได้นาน 8 – 12 ชั่วโมง ผู้ที่เสพจะมีอาการประสาทหลอนเห็นภาพเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ในอดีต (flashbacks) ผู้ที่เสพ LSD ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคจิต (psychosis) ได้


การควบคุมตามกฎหมาย 
 LSD จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด


บทลงโทษ


บทลงโทษ.png



บรรณานุกรม

http://www.sarakadee.com/2011/10/07/lsd/

http://www.chm.bris.ac.uk/motm/lsd/lsd1_text.htm

กองควบคุมวัตถุเสพติด พ.ศ. 2547