เห็ดขี้ควาย (psilocybe mushroom)
เห็ดขี้ควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing วงศ์ Strophariaceae สารเคมีที่สำคัญในเห็ดขี้ควาย มี 2 ชนิด คือ psilocybine และ psilocine ซี่งเมื่อ psilocybine เข้าร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น psilocine ทั้ง psilocybine และ psilocine ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์
สูตรโครงสร้าง psilocine | สูตรโครงสร้าง psilocybine |
ชื่อสามัญ/ชื่อเรียกทั่วไป เห็ดขี้ควาย / Psilocybe mushroom / บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต ในบรรดานักเที่ยวอาจเรียกเห็ดขี้ควายว่า “Magic Mushroom” / Buffalo dung Mushroom
ลักษณะ หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน
ก้าน ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย
สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ
พบได้บริเวณ เห็ดขี้ควาย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง
การเสพ มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน
อาการผู้เสพ : เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
การควบคุมตามกฎหมาย
1.เห็ดขี้ควาย ซึ่งหมายถึงพืชที่ให้สาร psilocybine หรือ psilocine และรวมถึงส่วนต่างๆ ของพืชดังกล่าว เป็นต้นว่า ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
2.สาร psilocybine และ psilocine ปัจจุบันถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
บรรณานุกรม
เห็ดขี้ควายสิ่งเสพติดต้องห้าม :ยงยุทธ์ สายฟ้า วิรัช ชูบำรุง กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร
พืชเห็ดขี้ควาย : วรางค์ บุญช่วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เว็บไซต์ http://www.emcdda.europa.eu/publications/drug-profiles/mushrooms